
ภาพจาก Pentium5 / Shutterstock.com
เป็นสำนวนไทยที่มักจะได้ยินถูกหยิบยกมาใช้บ่อยครั้ง สำหรับ "ตัดหางปล่อยวัด" ซึ่งมีความหมายในเชิง ตัดขาด ไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไปวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก รักษ์ภาษาไทย โพสต์ระบุว่า สำนวน "ตัดหางปล่อยวัด" หมายถึงตัดหางของสัตว์ชนิดใด
1. หมา
2. แมว
3. เป็ด
4. ไก่

ภาพจาก เฟซบุ๊ก รักษ์ภาษาไทย
ปรากฏว่า ผู้คนในโลกออนไลน์มีคำตอบที่ใกล้เคียงกัน ส่วนหนึ่งเข้าใจมาตลอดว่าสำนวนนี้หมายถึง หมา แต่ก็ต้องแปลกใจที่ในคอมเมนต์มีหลายคนตอบว่า ไก่ ซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง

สำหรับสำนวนนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า ตัดหางปล่อยวัด มีที่มาจากการตัดหางไก่ แล้วนำไปปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือแก้เคราะห์ในสมัยโบราณ โดยมีหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลว่า เมื่อเกิดสิ่งที่เป็นอัปมงคล เช่น การวิวาทตบตีกันถึงเลือดตกในพระราชวัง ต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยเอาไก่ไปปล่อยนอกเมือง เพื่อให้พาเสนียดจัญไรออกไปให้พ้น

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีประกาศกล่าวถึงการนำไก่ไปปล่อยที่วัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ สันนิษฐานว่า ไก่ที่จะนำไปปล่อยที่วัดจะ ตัดหาง เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นไก่ที่ปล่อยเพื่อการสะเดาะเคราะห์ด้วย