
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง
วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง รายงานว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เข้าตรวจค้น 14 จุด แบ่งเป็น จ.ตาก 11 จุด, จ.เชียงใหม่ 2 จุด และ กทม. 1 จุด สามารถจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 10 ราย โดยมีสาเหตุการจับกุมจากการที่กรมสรรพากรตรวจสอบพบการกระทำความผิดของบริษัท เอสแอนด์เอ็ม บราเธอร์ฮูดฯ ประกอบกิจการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเครือข่ายฉ้อโกงภาษีรัฐ
ผลการตรวจสอบพบว่า กลุ่มของผู้ต้องหาได้จัดตั้งบริษัทดังกล่าว และได้นำบุคคลในครอบครัวและคนรู้จัก จัดตั้งร้านค้าและบริษัท ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) จำนวนกว่า 20 แห่ง แล้วแสร้งทำทีว่ามีการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างกันเป็นทอด ๆ โดยไม่มีการซื้อ-ขายสินค้ากันจริง ๆ โดยมีเจตนาหลักฐานการซื้อ-ขายเท็จเพื่อทำให้ราคาของสินค้าสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะมีการออกใบกำกับภาษีระหว่างร้านค้าและบริษัทในเครือข่ายของตนในลักษณะหมุ่นวนกันไปมาเป็นทอด ๆ (การซื้อ-ขายเป็นทอด ๆ วนกันไปมาเช่นนี้จะทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% เพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าด้วย)

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง
นอกจากนี้ ใช้บริษัท เอสแอนด์เอ็ม บราเธอร์ฮูดฯ ซึ่งจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการส่งออก ทำการซื้อสินค้าทอดสุดท้าย ซึ่งสินค้าจะมีราคาที่สูงเกินจริง และภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% ก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย ก่อนทำการส่งออกสินค้าเดียวกันนี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) โดยลูกค้า (ฝั่งเมียนมา) ที่มาซื้อสินค้าก็เป็นคนของเครือข่ายด้วย เพื่อสร้างภาพและสร้างหลักฐานของการส่งออกสินค้า
สำหรับการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ที่มาจากมูลค่าสินค้าอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร จากห้วงระยะเวลาปี พ.ศ. 2564-2565 พบว่า กลุ่มเครือข่ายของผู้ต้องหาได้ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรเป็นจำนวนเงินกว่า 150 ล้านบาท และจากการประเมินภาษีพบว่า มีมูลค่าความเสียหายจากการกระทำความผิดของกลุ่มผู้ต้องหาทั้งเครือข่ายเป็นจำนวนเงินกว่า 1,000 ล้านบาท

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน จึงเปิดปฏิบัติการ "ปิดเกมกลโกงภาษี" หรือ "Anti Tax Fraud Operation" เข้าจับกุมกลุ่มเครือข่ายที่ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าว เข้าดำเนินการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา และตรวจค้นเพื่อหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามหมายค้น
ผลจากการตรวจค้นจับกุมสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ครบถ้วนทั้ง 10 ราย และตรวจยึดของกลางเพื่อเป็นพยานหลักฐาน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 30 เครื่อง, โทรศัพท์มือถือ จำนวน 20 เครื่อง และเอกสารที่เกี่ยวข้อง จำนวน 100,000 ฉบับ จากนั้นได้นำส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง
เบื้องต้นผู้ต้องหามีความผิดดังนี้
1. ความผิดฐานร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ์จะออกเอกสารดังกล่าว
2. ร่วมกันเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มฯ
3. เจตนานำใบกำกับภาษีปลอมหรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง