รพ.พระนั่งเกล้า แถลงปมพยาบาลถูกทำร้ายร่างกาย ลุยเอาผิดคนก่อเหตุ เพจดังเล่าเบื้องลึกเกิดอะไรขึ้น ด้านคอมเมนต์เสียงแตก

ภาพจาก เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
วันที่ 12 มิถุนายน 2568 เพจเฟซบุ๊ก Dr. Dark โพสต์ระบุว่า
มีเคสต่อยพยาบาลอีกแล้ว คนไข้มีประวัติใช้กัญชา
ไม่ได้มีเรื่องทะเลาะอะไรกันเลย แจ้งความแล้ว ยังตามมาข่มขู่ต่ออีก
เหตุเกิดที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
ด้านเพจระบุเพิ่มในคอมเมนต์ว่า "ถ้าไม่อินบ็อกซ์มา ก็อาจจะเงียบ เพราะมีเคสก่อนหน้า ก็เงียบ" ขณะที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง สอบถามว่า วันนี้มีเหตุการณ์ใหม่เหรอครับ หรือเคสสัปดาห์ก่อน ซึ่งทางเพจตอบกลับว่า "วันนี้" พร้อมถามว่า "ทำไมถึงรู้ว่ามีเคสก่อนหน้า"
โรงพยาบาลแถลงชี้แจง
ต่อมา เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ออกแถลงการณ์ เรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ ระบุว่า
โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีพยาบาลถูกทำร้ายร่างกาย ขณะปฏิบัติหน้าที่ภายในสถานพยาบาลซึ่งเป็นเหตุที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของบุคลากรทางการแพทย์ ทุกคนขณะนี้พยาบาลที่ถูกทำร้ายได้รับการรักษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดและให้การรักษาอย่างเต็มความสามารถทั้งในด้านการรักษาพยาบาลการฟื้นฟูสภาพจิตใจและการสนับสนุน ด้านการสวัสดิการต่าง ๆ ของบุคลากรโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ได้ดำเนินการกระบวนการทางกฎหมายทันทีกับผู้ก่อเหตุ เพื่อคุ้มครองสิทธิ ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานภายใต้การยึดมั่นผลประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นสำคัญ สถานพยาบาลควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าในนามของผู้อำนวยการและคณะผู้บริหารโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ทุกท่านให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของบุคลากรทุกตำแหน่ง และไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและในทุกกรณี

ภาพจาก เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
ชาวเน็ต สะท้อนปัญหาหน้างาน
ขณะที่ความเห็นจากโพสต์ดังกล่าว ปรากฏว่าแบ่งเป็นสองมุมมอง บางส่วนนั้นเห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะมีไม่เพียงพอรองรับคนไข้ โดยอยากให้ดำเนินการเอาผิดกับคนก่อเหตุให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
อย่างไรก็ดี มีหลายคนเข้ามาสะท้อนปัญหาที่เจอหลังเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว บ้างยอมรับว่าไม่แปลกใจที่สักวันจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เนื่องจากเคยเจอพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจคนไข้ จึงแนะนำให้มีการตรวจสอบและปรับปรุงด้วย เชื่อว่าจะช่วยให้หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ เป็นต้น








