หมอเจด เปิด 5 ข้อ ไม่ได้กินน้ำตาลเยอะ ทำไมน้ำตาลยังพุ่งเสี่ยงเบาหวาน เกิดอะไรขึ้น

 
          หมอเจด เผยสาเหตุ ไม่ได้กินน้ำตาลเยอะ แถมลดข้าวแล้ว ทำไมน้ำตาลยังพุ่ง เสี่ยงโรคเบาหวาน ยิ่งถ้ากินเมนูนี้คอมโบคู่กัน ยิ่งกระตุ้น Randle Effect แบบจัดเต็ม

งดของหวาน น้ำตาลพุ่ง

          โรคเบาหวาน เป็นโรคหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่มักเป็นกัน หลายคนคิดว่า อาจจะเป็นเพราะการกินหวานเยอะ ๆ ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินออกมาขจัดน้ำตาลในเลือดไม่ทัน แต่ความจริง ต่อให้ไม่กินของหวาน ก็สามารถเป็นเบาหวานจากการกินได้เช่นกัน

          วันที่ 5 เมษายน 2568 เฟซบุ๊ก หมอเจด ของ นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา มีการโพสต์ถึงโรคเบาหวานว่า การเป็นโรคเบาหวานหรืออ้วนง่าย ไม่ได้มาจากการกินน้ำตาลเยอะเพียงอย่างเดียว ต่อให้ลดข้าว ลดหวาน น้ำตาลก็ยังพุ่ง มันเกิดจากอะไร มีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

          หลายคนยังเข้าใจว่าเบาหวาน หรือ อ้วนง่าย มาจากการกินน้ำตาลเยอะอย่างเดียว เลยพยายามตัดหวาน ตัดข้าว ตัดของหวานสุดชีวิต แต่พุงก็ยังอยู่ น้ำตาลก็ยังพุ่ง จนเริ่มสงสัยว่า เรากินผิดตรงไหน

          ความจริงคือ ไม่ใช่แค่น้ำตาลเท่านั้นที่ส่งผลเสียนะครับ แต่เมื่อไหร่ที่เรากิน คาร์โบไฮเดรต กับ ไขมัน พร้อมกันเยอะ ๆ โดยเฉพาะจากอาหารแปรรูป หรือฟาสต์ฟู้ด

          ร่างกายเรามีกลไกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Randle Effect วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่า Randle Effect คืออะไร เกิดขึ้นยังไง และที่สำคัญเราจะจัดการกับมันได้ยังไงบ้างแบบไม่ต้องเครียด

1. ถ้ากินไขมันเยอะ ร่างกายจะลดการใช้กลูโคส


          ลองนึกภาพว่าเรากินอาหารที่มัน ๆ เช่น หมูสามชั้นทอด ชีส เบอร์เกอร์ หรือข้าวมันไก่หนังเน้น ๆ  ไขมันพวกนี้จะถูกย่อยเป็น กรดไขมันอิสระ (Free Fatty Acids) แล้ววิ่งเข้าสู่กระแสเลือด พอร่างกายเจอกรดไขมันเยอะ ๆ มันก็จะเอาไขมันนี่แหละไปเผาผลาญก่อน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือมันจะไป ขัดขวางการใช้กลูโคส (น้ำตาล) โดยเฉพาะไปยับยั้งเอนไซม์ตัวนึงที่ชื่อว่า Pyruvate Dehydrogenase (PDH) ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการเผาผลาญคาร์บ

ผลตามมาคือ

          - น้ำตาลที่เรากินเข้าไปไม่ได้ถูกใช้ = เลือดมีน้ำตาลสูงขึ้น

          - อินซูลินต้องหลั่งออกมาเยอะขึ้นเพื่อพยายามเคลียร์น้ำตาล

          - ทำบ่อย ๆ เข้า ร่างกายจะเริ่ม ไม่ฟังอินซูลิน = ดื้อต่ออินซูลิน

2. ถ้ากินคาร์บเยอะ ร่างกายจะลดการใช้ไขมัน


          ในอีกมุม ถ้าเรากินคาร์บเยอะ ๆ แบบข้าวขาว ขนมปัง น้ำหวาน เค้ก หรือน้ำอัดลม ร่างกายจะตอบสนองด้วยการหลั่ง อินซูลิน ออกมา ช่วยดึงน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่อินซูลินไม่ได้หยุดแค่ดึงน้ำตาลนะ มันยังไป เบรคการใช้ไขมัน ด้วย
โดยไปยับยั้งเอนไซม์ชื่อ Hormone-Sensitive Lipase (HSL) ที่ใช้ในการเผาผลาญไขมันในร่างกาย หมายความว่า

          - ไขมันที่อยู่ในตัวเรา ถูกเก็บไว้ ไม่ได้ถูกเผา

          - พลังงานที่ได้ใช้มาจากคาร์บอย่างเดียว

          - ส่วนไขมันก็สะสมกลายเป็น พุง และ ต้นขา ไป

3. ถ้ากินทั้งคาร์บ + ไขมันพร้อมกัน = ภัยเงียบที่ร่างกายจัดการไม่ทัน


          มาถึงจุดพีคเลย ถ้าเรากิน ทั้งคาร์บทั้งไขมันเยอะพร้อมกัน เช่น


          - พิซซ่า + โค้ก

          - เบอร์เกอร์ + มันฝรั่งทอด

          ร่างกายจะได้รับพลังงานทั้งจากน้ำตาลและไขมันพร้อมกันเยอะมาก ทำให้เกิด

          - ร่างกายสลับไปมา ไม่รู้จะใช้ไขมันหรือกลูโคสดี

          - พอใช้ไขมันก่อน = กลูโคสไม่ได้ใช้ = น้ำตาลในเลือดพุ่ง

          - พออินซูลินออกมา = ไขมันก็โดนเก็บไว้

          พลังงานเข้าเยอะ แต่ใช้ไม่ทัน = สะสมไขมัน และดื้อต่ออินซูลิน

          ไม่ต้องแปลกใจเลยนะถ้ากินแบบนี้แล้ว อ้วนลงพุง น้ำตาลสูง ไขมันในเลือดพุ่ง


4. ตัวอย่างอาหารที่กระตุ้น Randle Effect แบบจัดเต็ม


          มีหลายเมนูที่เรากินกันเป็นประจำที่ กระตุ้น Randle Effect สุด ๆ แบบไม่รู้ตัว เช่น

          - เฟรนช์ฟราย + น้ำอัดลม = ไขมันจากการทอด + น้ำตาลจากโค้ก

          - เบอร์เกอร์ + มันฝรั่งทอด = คาร์บจากขนมปังและมัน + ไขมันจากชีสและเนื้อ

          - พิซซ่า + โค้ก = แป้ง+ชีส+น้ำตาลเต็ม ๆ

          - โดนัท + กาแฟใส่น้ำตาล = น้ำตาล+ไขมัน+แป้ง แทบไม่มีสารอาหารดีเลย

          อาหารเหล่านี้จะทำให้พลังงานเข้าเกิน แต่ร่างกายเบิร์นไม่ทัน = สะสมพลังงานเป็นไขมัน = เสี่ยงอ้วน เบาหวาน และไขมันพอกตับ

5. แล้วจะหลีกเลี่ยง Randle Effect ยังไงดี?


          หลายคนบอกงั้นต้องกินแค่ของคลีน ๆ ใช่ไหม ไม่ได้แปลว่าเราต้องกินคลีนสุดโต่ง หรือเลิกกินของอร่อยนะ แค่เข้าใจหลัก และเลือกให้สมดุลขึ้นก็ช่วยได้เยอะมากแล้ว

งดของหวาน น้ำตาลพุ่ง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก หมอเจด



เลือกแหล่งพลังงานหลักในแต่ละมื้อ


          - ถ้าวันไหนอยากกินคาร์บเยอะ เช่น ข้าว ผลไม้ ขนม = ก็ควรลดไขมันลง

          - ถ้าวันไหนเน้นไขมัน เช่น คีโต = ก็ควรลดข้าว ขนม ของหวานลง

กินแบบพอดี ไม่มากเกินไปทั้งสองอย่างพร้อมกัน


          - เลือกคาร์บดี ๆ อย่าง ข้าวกล้อง มันหวาน ผัก ธัญพืช

          - เลือกไขมันดี เช่น ถั่ว อะโวคาโด น้ำมันมะกอก แทนของทอด

ออกกำลังกาย


          - ไม่ต้องหนักมาก แค่เดินเร็ว วิ่งจ๊อก หรือเล่นเวทสัปดาห์ละ 150 นาทีต่อสัปดาห์

          - จะช่วยให้ร่างกายเอาพลังงานส่วนเกินไปใช้ แถมช่วยให้ตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้นด้วย

หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป


          - โดยเฉพาะพวกที่ทั้ง มัน + หวาน เช่น ขนมขบเคี้ยว เค้ก ชานม โดนัท

          - อ่านฉลากโภชนาการนิดนึงก็ช่วยได้เยอะ

          ถึง Randle Effect มันไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การกินแบบนี้เรื่อยๆทุกวันก็ทำให้เกิดโรคได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบกินของมัน ๆ หวาน ๆ พร้อมกัน แค่เเราเข้าใจ เราก็จะจัดสมดุลให้มันได้ง่าย ๆ ไม่ต้องอด ไม่ต้องคลีนสุดโต่ง แค่เลือกกินให้เป็นก็จะดีกับร่างกายแล้วครับ

 


คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ? รอโหลดข้อความของเพื่อน ๆ ด้านล่างนี้สักครู่ แล้วร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้เลย !
หมอเจด เปิด 5 ข้อ ไม่ได้กินน้ำตาลเยอะ ทำไมน้ำตาลยังพุ่งเสี่ยงเบาหวาน เกิดอะไรขึ้น โพสต์เมื่อ 5 เมษายน 2568 เวลา 19:23:11 แสดงความคิดเห็น