อ.เจษฎา เปิดเหตุผล ทำไมพระธาตุอินทร์แขวน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมา เจอแผ่นดินไหวหนัก แต่ไม่ร่วงลงมา ความจริงล้วนตรงข้ามกับที่คิด

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่ประเทศเมียนมา ได้สร้างความเสียหาย ความรุนแรงมากกว่าของไทยอย่างชัดเจน จนมีผู้เสียชีวิตเข้าสู่หลักพันคนแล้ว และสถานที่สำคัญในเชิงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ก็ได้รับความเสียหายไปด้วย
วันที่ 2 เมษายน 2568 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์ถึงพระธาตุอินทร์แขวน หนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเมียนมาที่หลายคนเกิดคำถามว่า เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง แต่ทำไมตัวหินถึงไม่ได้รับผลกระทบร่วงลงมา มีรายละเอียด ดังนี้
ซึ่งก็ทำให้หลายต่อหลายคนแปลกใจ ที่หินยักษ์ก้อนนี้ ซึ่งมีน้ำหนักหลายร้อยตัน และมาตั้งอยู่บนริมผา ในลักษณะท้าทายแรงดึงดูดของโลกจนดูเหมือนจะตกมิตกแหล่ กลับไม่มีการเคลื่อนแต่อย่างใดหลังในเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ที่ผ่านมา
ซึ่งก็คงเป็นเพราะมีหลายคนเข้าใจผิด คิดว่าก้อนหินพระธาตุอินทร์แขวนนี้ เกิดจากการที่ในอดีต มีก้อนหินเคลื่อนที่หล่นลงมา แล้วติดคาอยู่ริมเพิงผาของยอดเขาพวงลวง โดยมีจุดศูนย์ถ่วงที่สมดุลพอดี ทำให้น้ำหนักไปอยู่บนตัวหน้าผา มากกว่าออกไปทางส่วนที่ยื่นออกไป !?
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นครับ ก้อนหินที่ตั้งอยู่ของพระธาตุอินทร์แขวนนี้ จริง ๆ แล้ว เป็น "หินก้อนเดียวกันกับตัวหน้าผา" นั่นแหละครับ
ในทางธรณีวิทยานั้น ก้อนหินที่เห็นตั้งอยู่บนหน้าผา จริง ๆ แล้ว เป็นผลจากการที่น้ำไปกัดเซาะ (erosion) ชั้นหินแกรนิตที่แตกร้าวในแนวตั้งและแนวนอน ทำให้น้ำไหลไปตามแนวรอยแยกของหิน และกัดเซาะเปลี่ยนแปรรูปร่างของหินอย่างช้า ๆ เป็นเวลาอันยาวนาน จนทำให้ก้อนหินดูเป็นรูปกลมเกลี้ยงขึ้น และดูหลอกตา เหมือนกับว่าก้อนหินนี้ถูกยกขึ้นไปวางไว้บนหน้าผา อย่างน่าอัศจรรย์ครับ

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant