ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
คนที่ติดตามข่าวการประหารชีวิตแอม ไซยาไนด์ หรือ นางสรารัตน์ ในคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง 15 คดี คงไม่แปลกใจในเรื่องการรับโทษ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คนสงสัยคือ ทำไมนางสาวธันย์นิชา หรือ ทนายพัช ทนายความของแอม ถึงถูกสั่งจำคุก 2 ปีได้ ทั้งที่เป็นแค่ทนายความ ไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี มีหน้าที่แค่ว่าความให้เท่านั้น
หลังจากศาลตัดสิน ตอนนี้ทนายพัชและอดีตสามีแอมได้รับการประกันตัวแล้วคนละ 1 แสนบาท เบื้องต้น ทนายพัชให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อศาลใช้ดุลพินิจแบบไหน เราก็ต้องสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป แต่ตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เนื่องจากไม่ปรากฏประจักษ์พยานที่เห็นชัดและเป็นสาระสำคัญจากฝั่งโจทก์ในคำพิพากษา รวมทั้งพยานหลักฐานมีแต่เพียงแค่ฝั่งโจทก์กล่าวอ้างนำสืบ แต่ไม่มีพยานหลักฐานและคำให้การของฝั่งจำเลยปรากฏในคำพิพากษาเลย
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
จุดเริ่มต้นคดีแอม ไซยาไนด์
ล่าสุด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 กระปุกดอทคอม จะมาสรุปย้อนเหตุการณ์ในส่วนของทนายพัชว่ามีการกระทำแบบใดที่ทำให้ตัวเองมีความผิดในเรื่องที่เกิดขึ้น
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ที่กลายเป็นที่โด่งดัง เกิดจากการเสียชีวิตอย่างปริศนาของนางสาวศิริพร หรือก้อย ที่เสียชีวิตขณะอยู่กับแอมใน จ.ราชบุรี แต่แอมกลับไม่ช่วยและหลบหนีไปพร้อมทรัพย์สินประมาณ 1 แสนบาท พอขยายผลของคดียิ่งพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับไซยาไนด์ มีผู้เสียชีวิตในลักษณะเดียวกันอีกหลายคน นำไปสู่คดีที่ฟ้องต่อกันมาถึง 15 คดี เป็นคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม คดีแรกที่ต้องสู้กันในศาลระหว่างแอมกับครอบครัวผู้เสียชีวิต คือ คดีของก้อย คดีที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสวนทุกอย่าง ทั้งแอม ทั้งทนายความ และคนใกล้ชิด จนนำไปสู่การจับตัวแอมเข้าเรือนจำ
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ย้อนคำสัมภาษณ์ของทนายพัช
หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนการตัดสินคดี วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 เป็นช่วงเวลาที่แอมอยู่ในเรือนจำ ทนายพัชก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ทอดทิ้ง อย่างดีก็แค่ประหาร แม้จะมีหลายคดี อัตราโทษประหารของเรามีเพียง 1 ชีวิต ดังนั้น กี่คดีที่เข้ามาไม่ต้องไปสนใจ แต่ถ้าสารภาพคือติดคุกตลอดชีวิต และจะมีคดีอื่น ๆ ตามมาด้วย
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ต่อมา วันที่ 2 ตุลาคม 2566 ทนายพัช เปิดเผยด้วยความมั่นใจว่า แอม ชนะคดี 100% เพราะพยานหลักฐานของโจทก์ค่อนข้างคลุมเครือ ถ้าเป็นการจับได้คาหนังคาเขาว่าวางยา คือไม่รอด
ข้อต่อสู้ของแอมที่จะทำให้ชนะคดีคือ ลักษณะภูมิศาสตร์ในที่เกิดเหตุเป็นเนินสูง จุดที่แอมอยู่ไม่สามารถมองเห็นว่าก้อยก้มลงไปแล้วเสียชีวิต
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
แล้วทนายพัชติดคุกได้อย่างไร
ระหว่างที่ตำรวจกำลังรวบรวมพยานหลักฐานก็พบว่า ทนายพัชทำหน้าที่เกินกว่าการเป็นทนายความ มีการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องจัดฉากที่เกิดเหตุ ย้ายหลักฐานเพื่ออำพรางคดี เช่น ของใช้ส่วนตัวของผู้ตายส่งไปให้กับแก้ว เพื่อนของแอม รวมถึงให้คำแนะนำให้เอากระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ของก้อย ไปซ่อนที่คอนโดมิเนียมของพยานคนหนึ่งใน จ.เพชรบุรี
ส่วนทนายพัชก็ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมวลีเด็ดที่ว่า "ดูปากนะคะ ไม่เคยส่งค่ะ" จนสุดท้ายเมื่อตำรวจสรุปปิดคดีก็มีการเอาผิดบุคคล 3 คน ได้แก่ แอม อดีตสามีแอม และทนายพัช โดยมีการตัดสินคดีเมื่อวานนี้ (20 พฤศจิกายน 2567) ให้จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา โดยทนายพัชผิดในข้อหาช่วยเหลือผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงโดยการทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด
ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องเล่าเช้านี้