วันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ในตอนนี้ทั่ว TikTok ได้เกิดการส่งต่อคลิปเรื่องขบวนการคนต่างด้าว เข้ามารักษาฟรีในประเทศไทย แย่งคิวรักษา โดยเฉพาะในโรงพยาบาลจุฬาฯ และก่อให้เกิดความโกรธแค้นและคอมเมนต์ในทางที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่คิดแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเกิดจากรายการ ขีดเส้นใต้เมืองไทย ของคุณสุภาพ คลี่ขจาย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ที่พูดว่า มีคนต่างด้าวมาแย่งเข้าคิวในการรักษาฟรีในเมืองไทย โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องนี้ทำกันเป็นขบวนการ ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน โดยเกิดจากโพสต์ของนายสมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปกติมักจะรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน แต่เนื่องจากท่านเคยเป็นข้าราชการ จึงอยากทราบว่าการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรัฐเป็นอย่างไร จึงไปใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ นายสมเจษฎ์พบว่า หากจะรักษาตัวที่ รพ.จุฬาฯ ต้องไปรับคิวตอนตี 5 และเมื่อไปถึงก็ปรากฏว่า มีคนมารอเข้าคิวตอนตี 5 นับพันคน ตั้งแต่ประกันสังคม แรงงานต่างด้าว หลากหลายประเภท คนเคยไปโรงพยาบาลเอกชน ไปเจอแบบนี้แล้วช็อก
นายสมเจษฎ์ไม่ได้ใช้เส้น และไปรอตามคิว จึงทำให้พบว่า มีขบวนการคนต่างชาติมาเอาคิวเป็นอาชีพรักษาฟรี โดยทำบัตรต่างด้าวปลอม และอาชีพที่ทำรายได้สูงกว่าหมอจุฬาฯ คืออาชีพล่ามที่ขนคนจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อมารักษาในประเทศไทย คนที่มารักษาครึ่งหนึ่งเป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน และคนไทยที่จะไปรักษาที่ รพ.จุฬา ไม่อยากรอคิว ก็ต้องอาศัยไปกับรถกู้ภัย ที่ประเทศไทยหมอไม่พอ พยาบาลไม่พอ งบสาธารณสุขขาดแคลนหนัก เพราะรับรักษาต่างด้าวมากกว่าไทย ทำคลอดให้คนต่างด้าวมากกว่าไทย รู้กันทั้งเอเชียว่ามารักษาที่ไทยฟรี ตอนนี้เป็นธุรกิจใหญ่โต ทำบัตรเสร็จ ตรวจสุขภาพเสร็จ หางานทำได้เลย
ความจริง ต่างด้าวมารักษาฟรีในไทย คือข้อเขียนเก่าของคนที่ตายไปแล้ว หมอตัวจริงมาตอบ ต่างด้าวแย่งคนไทยรักษาจริงไหม
ทั้งนี้ ในช่วงที่นายสมเกียรติได้เผยข้อความดังกล่าวนั้น ทาง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา เคยออกมาพูดเรื่องนี้กับโพสต์ทูเดย์ ว่าข้อความที่ส่งต่อและแชร์กันว่า คนต่างด้าวเข้ามาแย่งใช้โรงพยาบาลรัฐ ถือเป็นข้อความที่น่าเป็นห่วง สร้างอคติต่อชาติอื่น ทั้งที่ยังไม่มีการศึกษาข้อเท็จจริง โรงพยาบาลส่วนมาก มักจะแยกคิวคนไทยกับคนต่างชาติไว้อยู่แล้ว ไม่ได้รบกวนผู้ป่วยปกติ แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉินจริง แพทย์ก็ต้องรักษาให้ก่อน ไม่มีการที่ใครแย่งคิวใคร ฉะนั้นจึงอยากให้ศึกษาข้อเท็จจริงก่อน
ในขณะที่ นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง กล่าวว่า คนต่างด้าวก็ไม่ได้อยากเข้าโรงพยาบาลพร่ำเพรื่อเหมือนกัน จะไปก็ต่อเมื่อจำเป็น และต้องรีบไปแต่เช้าเพราะกลัวว่าจะไม่ได้คิว หลายคนไม่ไปกล้าเข้าโรงพยาบาลด้วยซ้ำเพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ในขณะที่โรงพยาบาลตามชายแดน เช่น โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ก็มีอัตราคนต่างด้าวเข้าใช้บริการเยอะกว่าคนไทยจริง หากหมอไม่รักษาเลยก็จะผิดจรรยาบรรณ