ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้่อหา
การสัมภาษณ์งานของหลายบริษัท มักจะมีคำถามหรือบททดสอบที่ดูแปลกประหลาดแตกต่างจากทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความตั้งใจของทางบริษัท ที่ต้องการจะประเมินคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้สมัคร ทั้งยังสะท้อนถึงลักษณะนิสัย ทัศนคติ และความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ความสามารถ หรือประสบการณ์ในการทำงาน
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 เว็บไซต์ The Economic Times เผยเรื่องราวตัวอย่างการสัมภาษณ์งานสุดแปลก จากผู้ใช้บัญชี Reddit รายหนึ่ง เผยว่ามีนายจ้างของบริษัทแห่งหนึ่ง ประเมินผู้สมัครงานโดยใช้ "แบบทดสอบเกลือและพริกไทย" โดยทางบริษัทได้ดำเนินการสัมภาษณ์งานตลอดทั้งวัน รวมถึงการร่วมรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน
ในสถานการณ์นี้ ทางนายจ้างจะตัดสินใจจ้างงานโดยพิจารณาจากนิสัยการกินอาหาร โดยจะสังเกตว่าผู้สมัครปรุงอาหารก่อนชิมหรือไม่ หากทางผู้สมัครเติมเกลือ พริกไทย หรือซอสปรุงรสลงไปก่อนที่จะตักชิม จะถือว่าไม่เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่การทำงานนั้นโดยทันที และให้ผู้สมัครรายนั้นตกรอบไป
ประเด็นดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเฉพาะบุคคลและเกือบจะดูไร้เหตุผล หรือทำให้คิดได้ว่า เจ้านายมีนิสัยหุนหันพลันแล่นหรือตัดสินคนอย่างรวดเร็วเกินไป แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเสียทีเดียว เพราะทางเจ้านายเชื่อว่า นิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้สามารถบ่งบอกเป็นนัยได้ว่า พวกเขาจะประพฤติตนอย่างไรในด้านอื่น ๆ ของการทำงาน
ดังนั้น แบบทดสอบเกลือและพริกไทยสามารถแสดงให้เห็นถึงปรัชญาการจ้างงานข้อหนึ่ง นั่นก็คือ พฤติกรรมหรือนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยให้ทราบถึงแนวทางในการปฏิบัติงานของบุคคลนั้น ๆ ได้ ผู้สมัครที่ไม่ได้ระวังเกี่ยวกับการทดสอบนี้อาจจะตกรอบได้โดยง่าย ซึ่งไม่ใช่เพราะขาดทักษะหรือประสบการณ์ แต่เป็นเพราะนิสัยที่เป็นปกติของพวกเขานั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีอีกตัวอย่างหนึ่งคือ "แบบทดสอบกาแฟ" ซึ่งถูกใช้โดย เทรนต์ อินเนส อดีตกรรมการผู้จัดการของบริษัท Xero Australia และปัจจุบันเป็นผู้บริหารด้านพัฒนากลยุทธ์ที่บริษัท SiteMinder การทดสอบนี้จะมุ่งเน้นไปที่การประเมินความรู้สึกการเป็นเจ้าของและความรับผิดชอบของผู้สมัคร
เทรนต์ได้เปิดเผยเกี่ยวกับการทดสอบนี้ในรายการพอดแคสต์ Ventures โดยอธิบายว่า ในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เขาจะพาผู้สมัครเดินไปที่ห้องครัวและเสนอเครื่องดื่มให้ จากนั้นผู้สมัครจะหยิบเครื่องดื่มกลับไปที่ห้องสัมภาษณ์เพื่อพูดคุยต่อ เมื่อการพูดคุยสิ้นสุดลง เขาจะสังเกตว่าผู้สมัครเสนอตัวที่จะนำแก้วเปล่าของตนไปคืนที่ห้องครัวหรือไม่
เทรนต์กล่าวว่า ลักษณะนิสัยนี้ดูเหมือนจะเรียบง่ายและเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สามารถสื่อความหมายได้มาก และสะท้อนทัศนคติได้เป็นอย่างดี ผู้สมัครงานที่เสนอตัวจะนำแก้วไปคืนเอง แสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความรับผิดชอบ ทั้งยังสะท้อนถึงทัศนคติในการเคารพพื้นที่ร่วมกัน และมีแนวโน้มทิศทางในการทำงานเป็นทีม สิ่งนี้ทำให้เขาสามารถคัดเลือกผู้สมัครที่น่าจะเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรได้
ขอบคุณข้อมูลจาก The Economic Times