จากกรณีที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน (สาธิต มศว) มีการประกาศปิดสถานศึกษาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 13-27 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากพบผู้ป่วยโรคไอกรน และต้องการป้องกันการระบาดของโรค
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 ฐานเศรษฐกิจ มีการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไอกรนว่า คืออะไร อาการเป็นอย่างไร วิธีการป้องกัน มีรายละเอียดดังนี้
ไอกรน คืออะไร
โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้ผ่านการไอ จาม และหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอจะมีโอกาสเป็นโรคได้ง่าย ซึ่งสถานที่การระบาด มักเป็นที่ที่เด็กรวมตัวกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก
อาการของไอกรน
โรคนี้คนป่วจะมีอาการคล้ายหวัดธรรมดา มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย มีไข้ต่ำ ๆ หลังจากนั้นผ่านไป 1-2 สัปดาห์ จะไอแรงเป็นชุด ๆ ซ้อน ๆ ติดกัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นหายใจเข้าดังวี้ด บางรายอาจอาเจียนด้วย ถ้ารุนแรงมาก ๆ ก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในบางครั้งก็อาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา -3 เดือน
ดังนั้น ถ้าหากเด็กไอติดต่อกันนานถึง 2 สัปดาห์ หรือหายใจเสียงดังผิดปกติ ควรรีบพาไปหาหมอ
วิธีการป้องกันโรคไอกรน
การป้องกันโรคไอกรน ทำได้โดยป้องกันและควบคุมการระบาดในสถานที่ที่มีความเสี่ยง เด็กเยอะ ได้แก่
1. สถานศึกษา ควรคัดกรองเด็กที่ไอเรื้อรังหรือไอรุนแรงแยกจนกว่าจะได้รับยาปฏิชีวนะครบ 5 วัน และแจ้งให้ผู้ปกครองเฝ้าระวัง
2. ผู้สัมผัสใกล้ชิด ต้องได้รับยาปฏิชีวนะป้องกัน 21 วัน ส่วนเด็กคนไหนยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน ให้รีบฉีดโดยเร็วที่สุด
3. เด็กโต ถ้ายังไม่ได้รับวัคซีนในช่วง 11-12 ขวบ ควรจะฉีดวัคซีน Tdap (Tetanus-Diphtheria-acellular Pertussis)
หมอยง ให้ความรู้เพิ่มเติมเรื่องไอกรน
เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ของ นพ.ยง ภู่วรวรรณ มีการโพสต์ให้ความรู้โรคไอกรนไว้ว่า ประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันมานานกว่า 50 ปี โดยโรคนี้จะเป็นอันตรายในเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ยิ่งถ้าต่ำกว่า 3 เดือนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
คนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะมีปัญหาจากโรคไอกรนคือ ผู้สูงอายุที่มีร่างกายอ่อนแอ แต่เด็กโตและวัยผู้ใหญ่จะไม่มีปัญหามาก เหมือนโรคทางเดินหายใจโรคหนึ่งที่มียาปฏิชีวนะรักษา
พร้อมกันนั้น นพ.ยง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการปิดโรงเรียน 2 สัปดาห์เอาไว้ว่า "การปิดโรงเรียน 2 สัปดาห์ ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะเปิดมาก็ต้องเจอกันอีก เชื้อไอกรนมีระยะฟักตัว 7-10 วัน ถ้าเป็นโรครุนแรง ถึงกับชีวิต การกักตัว ไม่ให้มีการระบาด เราจะใช้เวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว ดังนั้นก็จะเป็น 20 วัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลยสำหรับโรคไอกรน ในเด็กโตและผู้ใหญ่
การตื่นตระหนก และเป็นอะไรนิดหน่อย ก็ตรวจหาเชื้อ 23 โรคเลย ไม่เป็นประโยชน์เลย และเมื่อตรวจมาแล้วบางครั้งพบเชื้อ 3 4 5 ชนิด ไม่รู้เลยว่าชนิดไหนก่อโรค และก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการรักษามากมาย นอกจากในผู้ที่เป็นรุนแรง และการตรวจนั้นมาประกอบการรักษา โดยเฉพาะโรคที่มียาต้านไวรัสจะเป็นประโยชน์กว่า เช่นตรวจเฉพาะไข้หวัดใหญ่ หรือโควิด 19 เพราะ 2 โรคนี้มียาต้านไวรัส
ข้อคิดที่ให้มาทั้งหมดเป็นความรู้ เพื่อประกอบการตัดสินใจ สำหรับผู้ปกครองเพื่อลดการตื่นตระหนก โดยเฉพาะทุกคนเชื่อว่าห่วงลูกหลานของตน แต่เรื่องนี้ไม่ได้เรื่องใหญ่โตเลย อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อกระจายออกไปมาก ๆ ตรวจมาก ๆ เด็กก็จะขาดเรียนมาก ๆ โดยใช่เหตุ ควรพิจารณาตามสถานการณ์ และข้ออ้างอิงทางวิชาการ"