ภาพจาก เฟซบุ๊ก The iCon Group
เรื่องราวของ ดิไอคอนกรุ๊ป ถือว่าเป็นคดีมหากาพย์สุด ๆ จากการจับกุมตัว 18 บอสของบริษัท ที่มีลีดเดอร์อย่าง บอสพอล วรัตน์พล กันต์ กันตถาวร มิน พีชญา และ แซม ยุรนันท์ ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจว่า ดิไอคอน เป็นเพียงบริษัทขายตรงเท่านั้น แล้วทำผิดอะไร หลอกลวงตรงไหน จนถึงขั้นถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ วันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาเฉลยให้ฟังกันค่ะ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก The iCon Group
ขายตรง คืออะไร แล้ว ดิไอคอน ไม่ใช่ขายตรงหรือ
ธุรกิจขายตรงนั้น คือรูปแบบธุรกิจที่มีการจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภค ผ่านตัวแทนที่เป็นผู้จำหน่ายอิสระ หรือตัวแทนขายตรง เป็นผู้นำสินค้าหรือบริการไปอธิบายยังผู้บริโภคถึงบ้าน ต่างกับการจำหน่ายสินค้าทั่วไป ที่มักจะผ่านพ่อค้าคนกลาง และผู้บริโภคต้องไปสรรหาซื้อกันเอาเอง
ทั้งนี้ ได้มีคนมาตั้งกระทู้ในพันทิป พาดพิงถึงบริษัทขายตรงชื่อดังแห่งหนึ่งว่า ทำไมบริษัทขายตรงแห่งนี้ไม่โดนจับ ทั้งที่บริษัทก็หาสมาชิกเหมือนกัน ยิ่งสมาชิกเยอะยิ่งได้เงินเยอะ แล้วต่างกับดิไอคอนอย่างไร ซึ่งมีคนมาสรุปให้ฟังถึง 4 ลักษณะของธุรกิจขายตรง คือ
ธุรกิจขายตรงสีขาว ที่เน้นการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ ทำงานคล้ายระบบสหกรณ์ มีรายได้มาจากสมาชิกและการขายสินค้าจริง และแบ่งปันผลกำไรกันไป
ธุรกิจขายตรงสีขาวค่อนเทา คือการขายตรงที่สินค้ามีคุณภาพจริง แต่ก็ยังเน้นการสรรหาสมาชิกเพื่อสรรหาผลกำไร แต่อยู่ในระดับที่รับได้และไม่เป็นภัยสังคม
ธุรกิจขายตรงสีเทา คือธุรกิจขายตรงที่เน้นการสรรหาสมาขิกเพื่อให้เกิดรายได้แบบเงินต่อเงิน แบบนี้ต้องได้รับการควบคุมแผนการตลาด
ธุรกิจขายตรงสีเทาค่อนดำ คือธุรกิจขายตรงที่มีสินค้าหลอก สิ่งที่เน้นคือการหาสมาชิกมาต่อทีหลังแบบแชร์ลูกโซ่ และกระจายฐานออกไป ไม่ใช่แค่ 1 ต่อ 1 แต่กระจายฐานแบบพีระมิด ซึ่งธุรกิจขายตรงแบบนี้มักจะสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างในสังคม
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วรัตน์พล วรัทย์วรกุล
สรุป ดิไอคอน ผิดอะไร หลอกลวงคนยังไงบ้าง : เน้นการสร้างความน่าเชื่อถือ มากกว่าขายสินค้า
ความแตกต่างของธุรกิจขายตรงอื่นในไทย และ ธุรกิจขายตรงแบบดิไอคอนนั้น ต่างกันตรงที่ ธุรกิจขายตรงอื่น ๆ จะเน้นไปที่การพัฒนาตัวสินค้าให้สินค้ามีคุณภาพ เป็นที่รู้จัก เน้น "ยอดขาย" จากสินค้า โดยให้มีการจ่ายค่าสมัครสมาชิกในราคาไม่แพง เพื่อให้สมาชิกมาซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ถ้าสมาชิกเห็นว่าสินค้าใช้ดีแล้วเกิดการบอกต่อปากต่อปาก และมีคนสนใจซื้อสินค้าต่อจากเรา เราก็จะได้กำไรจากทั้งตัวสินค้าและการหาสมาชิกคนอื่น แต่หากเราสมัครสมาชิก ซื้อสินค้า และเห็นว่าสินค้าที่เราใช้แล้วไม่ดีอย่างคำโฆษณา ก็สามารถคืนสินค้าได้ หรือถ้าไม่อยากคืนสินค้าแล้วเอาไปขายต่อ ก็จะขายต่อได้ในราคาเดิม เพราะสินค้าเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว ไม่เกิดการตัดราคากัน
ต่างกับวิธีการขายของดิไอคอน ที่แม้ว่าจะมีสินค้า แต่บริษัทไม่ได้เน้นพัฒนาสินค้า แต่เน้นสร้างเครือข่าย เน้น"ยอดคน" หรือที่เรียกว่า ดาวน์ไลน์ และการสร้างเครือข่ายนั้น ทำได้โดยการสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์เพื่อชักจูงคน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผู้เสียหายหลายคนบอกว่าไม่รู้จักสินค้าของดิไอคอน แต่รู้จักแค่พรีเซ็นเตอร์ หรือกระทั่งการเข้าสัมมนาเพื่อฟังการขายเรื่องราวชีวิตลำบากของเหล่าบอส ที่เริ่มต้นจากคนไม่มีอะไร ฝ่าฟันจนมีเงินเป็นร้อยล้าน พาเหรดกันไปออกรายการทีวี ลงหนังสือพิมพ์ ซื้อโฆษณาทั่วเมืองที่เป็นโลโก้ของบริษัท ไม่ใช่ภาพสินค้า อวดรวยด้วยรถยนต์ บ้าน นาฬิกา กระเป๋าแบรนด์เนมหรู ๆ โดยที่ไม่ได้เน้นเลยว่า สินค้าของบริษัทจะต้องดีแบบไหน
สินค้าของดิไอคอน มีหลายอย่าง แต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในเรื่องของแบรนด์ เช่น iCON MEAL (ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร), ICON FACE I Serum (เครื่องสำอาง เซรั่ม) ICON FACE UNIVERSAL SUNSCREEN SPF 50+ PA++++ (ครีมกันแดด), Boom Collagen (คอลลาเจนยี่ห้อ บูม), Boom Gluta Shots (กลูต้ายี่ห้อ บูม) I Z (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดเม็ดฟู่), BOOM VIT C (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร), กาแฟ รูม คอฟฟี่, บูมโก้โก้พลัส, ไฟเบอร์ บูม
ภาพจาก Instagram the.icon.group
สรุป ดิไอคอน ผิดอะไร หลอกลวงคนยังไงบ้าง : สินค้าไม่มีอยู่จริง เน้นการหาคนมาร่วมเครือข่าย คล้ายแชร์ลูกโซ่
ความแตกต่างอีกอย่างคือ ในธุรกิจขายตรงใด ๆ เมื่อสั่งของแล้ว ทุกครั้งที่สั่งของจะต้องมีของมาส่งที่บ้านเสมอ แล้วคนขายก็จะเอาของไปกระจายต่อให้กับลูกค้าคนอื่น ๆ
แต่ที่ดิไอคอนนั้น ได้พัฒนา "ระบบ" ของตัวเองขึ้นมา โดยที่จะมี "พ่อทัพ-แม่ทีม" ยิงแอดไปที่กลุ่มเป้าหมาย อ้างว่าให้มาเรียนขายของออนไลน์ เมื่อมีคนมาเรียนแล้วก็จะมีการสอนผู้เสียหายขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการยิงแอด ก่อนพยายามชักจูงให้มีการเปิดบิลซื้อสินค้าของดิไอคอน ซึ่งสามารถเปิดบิลได้ตั้งแต่ 2,500 บาท (ตัวแทนจำหน่าย ได้ของมา 2-3 อย่าง แต่ขายไม่ได้) 25,000 บาท (หัวหน้าทีม) 50,000 บาท (ตัวแทนจำหน่าย) และ 250,000 (ดีลเลอร์ หรือ รายใหญ่ มีสินค้า 500 กล่อง สามารถหาลูกทีมได้) โดยเฉพาะการที่ บอสพอล จะเน้นวางแผนให้เปิดบิลใหญ่สุดในระดับ ดีลเลอร์ หรือ รายใหญ่ จัดทริปท่องเที่ยวต่าง ๆ และใช้คำจูงใจสารพัดว่าเป็นการลงทุนครั้งเดียว มีพี่เลี้ยงช่วยดูแลทุกขั้นตอน ได้สินค้าราคาส่ง ขายไม่นานก็ได้ทุนคืน บริษัทมีความน่าเชื่อถือ มีดารามาร่วมลงทุนด้วย และหากต้องการทุนคืนไว ได้ยอดเยอะ รวยเร็ว เราก็ต้องไปหา "เครือข่าย" มาเป็นดาวน์ไลน์ หากดาวน์ไลน์ของเราขายของได้ เราก็จะได้ส่วนแบ่ง และมีเงินจากการที่เราไปหาเครือข่ายเองด้วย
เมื่อผู้เสียหายยอมเปิดบิลแล้ว ก็ไม่ต้องสต็อกของ เพราะอ้างว่าที่นี่ใช้ระบบ Dropship Fulfillment ให้ผู้เสียหายไปหาลูกค้ามาให้ได้ หาลูกค้าได้เมื่อไรแล้วค่อยมาเบิกของ ตัวแทนสามารถฝากของไว้ได้ 6 เดือน แต่ในทางปฏิบัติฝากได้นานกว่านั้น ซึ่งจังหวะนี้ก็เท่ากับว่า ดิไอคอนสามารถเอาเงินมาหมุนได้ก่อนเป็นระยะเวลานาน ๆ ในระหว่างที่รอคนไปหาลูกค้ามาให้
จากนั้น เมื่อผู้เสียหายลงทุนซื้อของมาแล้ว (แม้จะยังไม่มีของในมือ) ก็ต้องพยายามขายสินค้าให้ออก ไม่ว่าจะทางออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่ละคนจะควักเงินเพิ่มเพื่อที่จะยิงแอดอีกตามที่ดิไอคอนสอน สินค้ามีถึง 500 กล่อง ไม่ซ้ำรูปแบบกัน หลายครั้งคนที่มาเรียนก็หาลูกค้าไม่ได้ ยิงแอดไปแล้วก็เจอคนเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่เป็นลูกค้าของดิไอคอนอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายรู้สึกว่าตัวเองหาคนมารับช่วงสินค้า 500 กล่องไม่ได้ หาเครือข่ายไม่ได้ ขายของไม่ออก เงินจม ก็จะกลับไปหาพ่อทัพแม่ทีมอีก ซึ่งพ่อทัพแม่ทีมอาจจะให้เราลงทุนจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อจ้างคนยิงแอด จากที่ยิงแอดเองวันละ 500 บาท หากจ้างคนยิงแอดให้อาจจะเป็นวันละ 2,500 บาท หรือไม่เช่นนั้นผู้เสียหายก็จะขอซื้อรายชื่อลูกค้า แต่รายชื่อลูกค้าที่ได้รับมา ก็จะกลายเป็นรายชื่อขยะ มีแต่แม่บ้าน รปภ. ไม่สามารถปิดดีลได้
จะเห็นได้ชัดว่า จุดประสงค์ตั้งแต่แรกเริ่มไม่ใช่การ "ขายสินค้า" และบอกต่อปากต่อปาก แต่คือการ "ขยายเครือข่าย" ต่อไปเป็นลูกโซ่ จากเดิมที่คนตั้งใจมาที่ดิไอคอน เพื่อเรียนการขายของออนไลน์ ก็จะกลายเป็นดาวน์ไลน์ในทันทีด้วยการซื้อของดิไอคอน ยิงแอดให้ดิไอคอนเพื่อขายสินค้า และหากลงทุนไปเยอะก็ต้องพยายามกู้ทุนคืนด้วยการหาคนมาเป็นดาวน์ไลน์ตัวเอง แต่หากขายสินค้าไม่ออก หาลูกค้าไม่ได้ ก็จะกลายเป็นเหยื่อของดิไอคอน แต่ผู้เสียหายจะมองไม่ออกว่าตัวเองเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ แต่จะมองว่าตัวเองทำธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเอง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
สรุป ดิไอคอน ผิดอะไร หลอกลวงคนยังไงบ้าง : งบการเงินชี้ ไม่มีสินค้าในคลัง ได้เงินมากองโดยไม่เอาของ พันล้าน !
เฟซบุ๊ก CPA Solution ผู้ตรวจสอบบัญชี ได้มีการวิเคราะห์งบการเงินของดิไอคอนปี 2564 ให้ฟัง โดยพบความน่าสนใจ ดังนี้
- สินค้าคงเหลือของดิไอคอนน้อยสุด ๆ เมื่อเทียบกับยอดขาย โดยสินค้ามีพอขายแค่ 7 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ดิไอคอนจะส่งของได้ทันทีหลังจากที่มีคนมาเปิดบิล
- ในปี 2564 ดิไอคอนมีรายได้ที่รับรู้แล้วแต่ยังไม่เกิดขึ้นถึง 1,112 ล้านบาท คือ เงินที่คนเอามาลงทุนกับดิไอคอน แต่ไม่ได้สินค้าเข้าไปอยู่ในมือสูงกว่าพันล้าน นั่นหมายความว่า มีคนเอาเงินมาให้ดิไอคอนโดยไม่เอาของไปสูงระดับพันล้านบาท
- บอสพอล มีระบบวิเคราะห์ยอดขายในตลาดและยอดเบิก เพื่อประมาณการยอดที่คนจะมาเบิกในแต่ละช่วง และการทำแบบนี้จะทำให้เงินไม่จม เอาเงินไปลงผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด ควบคุมต้นทุนการจัดเก็บสินค้าและความสดใหม่ได้ แต่เพราะวิธีนี้นี่เอง ที่จะทำให้สินค้าขาดสต็อกเป็นระยะ และในช่วงที่เป็นข่าว ตัวแทนก็แห่กันกดยกเลิกสินค้า ทำให้สินค้าผลิตไม่ทัน ยิ่งตอกย้ำความหลอกลวง
- ในยอดปี 2564 มีการรีสต็อกสินค้ามากกว่า 400 ครั้ง แสดงว่าใน 1 วันของปีนั้น รีสต็อกสินค้ามากกว่า 1 รอบ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในการทำธุรกิจ และการสต็อกสินค้าที่น้อยมาก และมียอดขายเยอะมาก เท่ากับสินค้าไม่ได้มีการส่งออกไปจริง ๆ
- อัตราการหมุนเวียนสินค้าของดิไอคอนสูงมาก ผู้บริหาร หรือ บอสพอล น่าจะรู้อยู่แล้วว่าสินค้าขายไม่ออก ไม่ได้ผลิตสินค้ามาเท่ากับที่ตัวแทนเปิดบิลลงทุน แต่รายได้ของบริษัทแทบทั้งหมด มันมาจากการหาตัวแทนจำหน่าย เปิดบิลโดยไม่ได้มีการเบิกสินค้า และไม่ได้มีการขายสินค้าให้ผู้บริโภคจริง ๆ
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
ภาพจาก Instagram the.icon.group
ภาพจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว
ภาพจาก เฟซบุ๊ก The iCon Group
ภาพจาก เฟซบุ๊ก วรัตน์พล วรัทย์วรกุล
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้
ภาพจาก เรื่องเล่าเช้านี้