ภาพจาก เฟซบุ๊ก ดร.เสรี ศุภราทิตย์
เป็นความเสียหายครั้งใหญ่อีกครั้งสำหรับจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เข้าถึง อ.เมือง ซึ่งเป็นจุดเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด คาดว่า น่าจะสร้างความเสียหายระดับ 2 พันล้านบาท
ความเสียหายที่เกิดขึ้น กลายเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยถึงมาตรการป้องกันน้ำท่วมของทางภาครัฐว่ามีการจัดการอย่างไร มีการคาดการณ์มาก่อนหรือไม่ว่า จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้
วันที่ 9 ตุลาคม 2567 กระปุกดอทคอม รายงานว่า มีคนเริ่มย้อนโพสต์ของ เฟซบุ๊ก ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ที่เคยโพสต์เตือนภัยน้ำท่วมเชียงใหม่เอาไว้ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน หรือประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเหตุการณ์น้ำท่วม มีรายละเอียดดังนี้
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ดร.เสรี ศุภราทิตย์
สำนักงานชลประทานที่ 1 มีการคาดการณ์ระดับแม่น้ำปิงที่สะพานนวรัตน์ (P1) อาจจะมีระดับสูงสุดถึง 5.05-5.10 เมตร ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมพื้นที่เทศบาลเชียงใหม่ และพื้นที่ข้างเคียงตามแผนที่ที่มีเฉดสีฟ้า (ตามแผนที่ในรูป) ดังนั้น จึงขอให้ชาวเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวได้ตระหนักกับเรื่องนี้ เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ได้อย่างปลอดภัยต่อไป
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ดร.เสรี ศุภราทิตย์
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวัดระดับน้ำของจริง ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 4.93 เมตร ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ประมาณ 17 ซม. ถือว่ายอมรับได้ และทางทีมงานจะมีการสร้างแผนที่เตือนภัยเอาไว้ พร้อมเผื่อสัดส่วนความปลอดภัย 0.4 เมตร หรือประมาณ 7.8% ในการบริหารความเสี่ยง กรณี Worst case scenario เพื่อให้มั่นใจว่า เหตุการณ์ที่แย่ที่สุดจะไม่เกินระดับนี้
ถ้าหากเกิดกรณีที่ระดับน้ำจริงสูงกว่าที่ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้คาดการณ์ไว้ไม่เกิน 10% ชาวเชียงใหม่ก็ยังมีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเต็มที่
ความเห็นชาวเน็ต ณ วันนั้น
หลังจากที่ ดร.เสรี พูดถึงน้ำท่วม ก็มีคนเข้ามาวิจารณ์กันเป็นวงกว้าง และไม่เชื่อกับข้อมูลของ ดร.เสรี มองว่า เกิดขึ้นได้ยาก และเป็นการบั่นทอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ เข้าข่ายมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ
จุดที่ทำให้คนไม่เชื่อหลัก ๆ มีประมาณ 2-3 จุด เมื่อดูจากแผนที่ที่ ดร.เสรี นำมาโพสต์ ดังนี้
1. พื้นที่เฉดสีฟ้าเข้ามาลึกถึงสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งการเกิดน้ำท่วมที่สนามบินน่าจะเป็นไปได้ยากมาก ๆ ถ้าท่วมมาถึงจริง ๆ แสดงว่า สถานการณ์น้ำต้องหนักมากแน่นอน
2. น้ำท่วมข้ามถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ไปยัง อ.สันกำแพง ก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน
สุดท้ายน้ำท่วมจริง มีคนทวงสัญญาใครเคยด่ามาขอโทษ
กระทั่งเมื่อเกิดน้ำท่วมเข้าตัวเมืองเชียงใหม่จริง ข้ามถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ชาวเน็ตก็เริ่มโพสต์ทวงคำขอโทษจากคนที่เคยสบประมาท ดร.เสรี หรือที่เคยหัวเราะเรื่องน้ำท่วมเอาไว้ ให้มาขอโทษ เนื่องจากสิ่งที่ ดร.เสรี เคยเตือน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
ขณะเดียวกัน ก็มีคนมาแย้งเรื่องความเป๊ะของข้อมูล ดร.เสรี ว่า ถึงแม้น้ำท่วมจริง แต่ก็ไม่ได้เป๊ะขนาดนั้น ทำให้มีคนมาแย้งกลับว่า ถึงจะไม่เป๊ะ เราก็คงไม่ต้องการอะไรที่เป๊ะขนาดนั้น เอาแค่บอกว่า น้ำจะท่วมถนนซูเปอร์ไฮเวย์ ก็แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว สุดท้ายก็ท่วมจริง ๆ