คนญี่ปุ่นทดสอบ น้ำดื่มในไทย เจอค่า TDS สูง คืออะไร อ.เจษฎา เผยไม่อันตรายอย่างที่คิด


          น้ำดื่มแพ็ก ในไทยมีหลายยี่ห้อมาก คนญี่ปุ่นเลยนำมาทดสอบ และเจอค่า TDS สูง ในบางยี่ห้อ ด้าน อ.เจษฎา ออกมาเฉลยว่า การที่ค่า TDS สูงนั้น แปลว่าอะไร มันไม่อันตราย และไม่ใช่ค่าน้ำกระด้าง อย่างที่คนคิดกัน

คนญี่ปุ่นทดสอบ น้ำดื่มในไทย ค่า TDS สูง คืออะไร

          จากกรณีที่โลกออนไลน์แชร์ข้อมูลงานวิจัยของเด็กญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งนำน้ำดื่ม บรรจุขวดแพ็กยี่ห้อต่าง ๆ ที่ขายในไทย มาวัดค่า TDS ผลที่ออกมาก็พบว่า น้ำสิงห์ มีค่า TDS สูงที่สุดคือ 305 ppm รองลงมาคือ น้ำแร่มิเนเร่ 261 ppm และยี่ห้ออื่น ๆ ถัดลงมาเรื่อย ๆ จนถึงน้ำดื่มจิฟฟี่ 2 ppm โดยทางเพจที่นำข้อมูลนี้มาเผยแพร่ได้บอกว่า ค่า TDS สูง เป็นน้ำกระด้าง จึงเกิดคำถามว่า น้ำที่กระด้างเยอะจะดีหรือไม่ดีต่อการบริโภคกันแน่นั้น

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 19 กันยายน 2567 นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า ค่า TDS ไม่ใช่ค่า น้ำกระด้าง และที่น้ำสิงห์มี TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ก็ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้เป็นอันตรายอะไร

          "ค่า TDS คือ ค่าปริมาณของของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ (หรือ Total Dissolved Solid) ครับ ซึ่งเป็นคนละค่ากับค่าน้ำกระด้าง (water hardness) และน้ำดื่มสิงห์ที่มีค่า TDS สูงกว่ายี่ห้ออื่น ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มบรรจุขวด (คือ ไม่เกิน 500 ppm) สามารถบริโภคได้ทั่วไป"

ค่า TDS ในน้ำดื่ม
ภาพจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์

น้ำกระด้างคืออะไร


          น้ำกระด้าง (water hardness) จะหมายความว่า น้ำมีแร่ธาตุหลังจากการซึมผ่านตะกอนของหินปูนหรือยิปซัม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารประกอบระหว่างแคลเซียมและแมกนีเซียม กับคาร์บอเนต, ไบคาร์บอเนต และซัลเฟต

          เราสามารถวัดความเข้มข้นรวมของไอออนแคลเซียม (Ca2+) และไอออนแมกนีเซียม (Mg2+) ในน้ำนั้นด้วยเครื่องมือจำเพาะ ออกมาเป็น "ค่าความกระด้างทั้งหมด (total hardness)" ซึ่งตามมาตรฐานน้ำดื่ม ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น กำหนดให้มีค่าความเข้มข้น (คำนวณจากแคลเซียมคาร์บอเนต) ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจะเห็นว่าเป็นคนละค่ากับที่ปรากฏในงานวิจัยดังกล่าว

มาตรฐานค่า TSD ในน้ำดื่มไทย


          ส่วนข้อมูลงานวิจัยของเด็กญี่ปุ่นที่เผยแพร่กันนั้น เป็นค่าที่วัดมาจากเครื่อง TDS meter ที่ใช้วัดค่า "ของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำ" หรือ Total Dissolved Solid (TDS) ซึ่งในอดีตก็มีหลายคนเคยเอามาลองวัดค่าน้ำดื่ม แล้วเอามาตีความผิด ๆ เช่น อ้างว่าเป็นปริมาณของตะกอนสิ่งสกปรกในน้ำ เอาไปโจมตีบริษัทน้ำดื่ม จนเป็นคดีฟ้องร้องกันมาแล้ว

          ค่า TDS นั้นจะวัดปริมาณรวมของของแข็ง ทั้งสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ทั้งหมดที่ละลายอยู่ในของเหลว ซึ่งมีทั้งแร่ธาตุ เกลือ โลหะ ไอออนที่ละลายในน้ำ สาหร่าย เศษพืช ฯลฯ ซึ่งตามมาตรฐานน้ำดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขนั้น กำหนดให้ค่า TDS อยู่ที่ไม่เกิน 500 ppm (parts per million หรือหนึ่งส่วนในล้านส่วน ซึ่งก็เท่ากับหน่วยมิลลิกรัมต่อลิตร) ดังนั้น ที่ในรูป งานวิจัยวัดค่าออกมาได้ 305 ppm จึงนับว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้จะเป็นอันตรายต่อการบริโภค รวมทั้งไม่ใช่ค่าที่บอกความเป็น น้ำกระด้างสูง อีกด้วย

ปัจจุบันที่ทำให้ค่า TDS สูง เกิดจากอะไร


          การที่น้ำดื่มสิงห์ น้ำแร่ และน้ำดื่มบรรจุขวดอีกหลาย ๆ ยี่ห้อ มีค่า TDS สูงกว่าอีกหลายยี่ห้อนั้น เป็นผลจากวิธีการผลิตน้ำบริสุทธิ์ที่แตกต่างกัน โดยน้ำดื่มกลุ่มนี้จะใช้วิธีการผลิตน้ำผ่านการนำน้ำจากธรรมชาติ (น้ำบาดาลในแหล่งน้ำใต้ดินของบริษัท) มาผ่านการกรองด้วยเส้นใยกรองอย่างละเอียด ที่เรียกว่า ultrafiltration ทำให้ได้น้ำที่ยังคงมีแร่ธาตุต่าง ๆ อยู่มาก แต่ต้องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด

          ขณะที่ยี่ห้ออื่น ๆ ซึ่งมีค่า TDS ต่ำมาก ๆ นั้น จะใช้วิธีการผลิตด้วยระบบ อาร์โอ (RO) ผ่านเครื่องกรองแบบออสโมซิสย้อนกลับผ่านเยื่อกรอง (reverse osmosis) ทำให้แร่ธาตุและของแข็งทุกอย่างในน้ำถูกกรองออกไปหมดจากน้ำ และค่า TDS ก็จะน้อยมากจนใกล้ศูนย์

ความแตกต่างระหว่าง ยี่ห้อ TSD มาก กับ น้อย


          ดังนั้น โดยสรุป ค่า TDS ของน้ำดื่มนั้น มีกฎเกณฑ์มาตรฐานเพียงแค่ไม่เกิน 500 ppm ถ้ายี่ห้อไหนมีค่าสูง แต่ไม่เกินเกณฑ์นี้ ก็สามารถนำมาบริโภคได้ตามปกติ แต่จะส่งผลต่อรสชาติของน้ำที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับน้ำดื่มที่ผ่านระบบ RO จนไม่เหลือแร่ธาตุอะไรอีก

          ป.ล. เรื่องการนำเอาเครื่อง TDS meter ไปวัด แล้วนำไปกล่าวหาบริษัทน้ำดื่มกันผิด ๆ เช่น อ้างว่ามีค่า TDS สูง เป็นอันตราย ห้ามกิน ฯลฯ แล้วนั้น ยังมีการนำไปใช้หลอกขายเครื่องกรองน้ำกันด้วย เช่น อ้างว่ากรองด้วยเครื่องของเขาแล้วจะได้ค่า TDS น้อยกว่าน้ำดื่มบรรจุขวด แสดงว่าเครื่องกรองได้สะอาดปลอดภัยกว่า ขอให้ระวังกันด้วย

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์


คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ? รอโหลดข้อความของเพื่อน ๆ ด้านล่างนี้สักครู่ แล้วร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้เลย !
คนญี่ปุ่นทดสอบ น้ำดื่มในไทย เจอค่า TDS สูง คืออะไร อ.เจษฎา เผยไม่อันตรายอย่างที่คิด โพสต์เมื่อ 20 กันยายน 2567 เวลา 09:47:24 18,311 อ่าน แสดงความคิดเห็น