ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ทวิตเตอร์ @yoware
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี ขัดรัฐธรรมนูญ โดย ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ พร้อม 9 รมต. ที่ร่วมลงมติเห็นชอบย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อดัน เพรียวพันธ์ ขึ้น ผบ.ตร.
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2557) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา ร้องขอให้ศาลพิจารณาว่า สถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโยกย้าย นายถวิล พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการ สมช. และหนังสือที่ นางสาวกฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับโอนไปนั้นไม่เป็นไปตามขั้นตอน อีกทั้งยังเห็นว่า กระบวนการโยกย้ายใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น โดยมีการออกเอกสารในวันอาทิตย์ ซึ่งไม่เป็นไปตามการปฏิบัติราชการปกติ ดูแล้วเป็นการเร่งรีบอย่างผิดสังเกต ถือเป็นการกระทำที่รวบรัด ปราศจากเหตุผลอันสมควรที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้ จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า การที่ย้าย นายถวิล เลขาธิการ สมช. ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ คือความประสงค์ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ว่างลง เพื่อโอนย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. แทน อันจะทำให้ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่างลง เพื่อย้าย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. ในขณะนั้น ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ และเป็นเครือญาติของนางสาวยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน
การกระทำของนางสาวยิ่งลักษณ์จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง มีผลประโยชน์ทับซ้อน และวาระซ่อนเร้น มิได้กระทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนแต่อย่างใด ด้วยการโยกย้ายข้าราชการเพื่อให้เครือญาติเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นการก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรม คุณธรรม ความถูกต้องชอบธรรมของการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้สถานะการเป็นนายกรัฐมนตรี เข้าไปก้าวก่าย แทรกแซง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ผู้อื่น พรรคการเมือง ต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) (3) และมาตรา 268 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว รวมถึงรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติดังกล่าวในวันที่ 6 กันยายน 2554 ถือว่ามีส่วนร่วมในการก้าวก่ายแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการด้วย
ทั้งนี้ เมื่อสถานะความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวแล้ว ทำให้ ยิ่งลักษณ์ พ้นเก้าอี้รักษาการนายกฯ ส่วนคณะรัฐมนตรีรายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าวให้อยู่ในตำแหน่งรักษาการจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
สำหรับรัฐมนตรีที่ร่วมลงมติในการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 นั้น มีทั้งหมด 9 คน ซึ่งจะต้องพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไปพร้อมกับนางสาวยิ่งลักษณ์ โดย 9 รัฐมนตรีพ้นเก้าอี้ตามยิ่งลักษณ์ ประกอบด้วย
1. ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ในขณะนั้น
2. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ในขณะนั้น
3. นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น
4. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.พัฒนาสังคมฯ ในขณะนั้น
5. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.ไอซีที ในขณะนั้น
6. นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รมช.พาณิชย์ ในขณะนั้น
7. นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ในขณะนั้น
8. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในขณะนั้น
9. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ในขณะนั้น
ด้วยเหตุนี้ ทำให้รองนายกรัฐมนตรีที่ยังคงอยู่ในตำแหน่งขณะนี้นั้น มีเพียง 2 คน คือ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งในที่สุดแล้ว คณะรัฐมนตรีมีมติให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีต่อไป
ติดตาม ข่าวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แบบอัพเดททั้งหมด คลิกเลย
ติดตามข่าว ถวิล เปลี่ยนศรี แบบอัพเดททั้งหมด คลิกเลย
ติดตามข่าว ถวิล เปลี่ยนศรี แบบอัพเดททั้งหมด คลิกเลย